“สุขภาพ” แบ่งออกได้เป็นกี่มิติ ไปดูกัน

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “สุขภาพ” เอาไว้ว่า หมายความถึง สภาวะที่ร่างกาย และจิตใจมีความสมบูรณ์พร้อมมากเพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยสุขภาพนั้น สามารถแบ่งออกได้หลากหลายมิติ ซึ่งหลัก ๆ แล้วก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ ได้แก่ มิติในเรื่องของความสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย มิติในเรื่องของสภาวะทางจิตใจ มิติทางด้านสุขภาพวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญา และสุดท้ายก็คงเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางสังคม ซึ่งแต่ละมิติมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

1.สุขภาพทางร่างกาย หมายความถึง สภาพร่างกายที่ดีพร้อม สมบูรณ์แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมหรือดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้อย่างปกติสุข สุขภาพร่างกายที่ดีอาจประเมินได้จากการมีน้ำหนักและส่วนสูงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นไปตามช่วงวัยและอายุ ความสดชื่นแจ่มใสหลังจากตื่นนอน เพราะเกิดจากการพักผ่อนนอนหลับที่มีประสิทธิภาพและระยะเวลาพักผ่อนที่นานเพียงพอ ความอยากรับประทานอาหารที่ดีเป็นปกติ ปราศจากซึ่งการเบื่ออาหาร การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงที่เกิดจากการหมั่นออกกำลังกายอยู่อย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

2.สุขภาพทางจิต ว่าด้วยเรื่องของสภาวะที่เราสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิด ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเราให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร มีจิตใจแจ่มใสเบิกบาน ไม่ปล่อยให้ใจยึดติด หรือแบกความคาดหวังต่าง ๆ ที่มากจนเกินไป อันจะทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสภาพจิตใจ ซึ่งคนที่มีสุขภาพจิตที่ดีนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นคนที่สามารถปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อม ผู้คนได้ค่อนข้างดี มีวิธีการคิด พูด ทำ ที่ไม่ทำให้ตนเองรู้สึกว่าแปลกแยกแตกต่างจากกลุ่มสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง มีความมั่นใจในตัวเองในระดับที่พอดี และมักเป็นคนที่มีอารมณ์ที่มั่นคง ไม่แปรปรวนง่าย เป็นคนอารมณ์ดีเป็นปกติ ปราศจากซึ่งความหวาดระแวงต่อผู้อื่นมากจนเกินไป

3.สุขภาวะทางปัญญา ตามความหมายคำจำกัดความในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2550 กล่าวเอาไว้ว่า “ปัญญา คือ ความรู้ทั่ว รู้เท่าและเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” การมีสุขภาวะทางปัญญา หรือจิตวิญญาณที่ดี จึงอาจหมายถึง การรู้และการแยกได้ว่าสิ่งผิดชอบชั่วดีเป็นอย่างไร และการจะมีสุขภาวะปัญญาที่ดีได้ จะต้องผ่านการสั่งสมประสบการณ์ผ่านความเข้าใจโลกต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร อันจะช่วยลดซึ่งความเห็นแก่ตัวเอง และเพิ่มความเห็นอกเห็นใจให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น

4.สุขภาวะทางสังคม หมายความถึง การที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข การที่เรามีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ทั้งจากหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว สังคม ไปจนถึงระดับประเทศ หรือระดับโลก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้เองโดยลำพัง โดยไม่พึ่งพาผู้อื่นเลยได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อรู้จักกับภาพรวมเกี่ยวกับสุขภาพในทุกมิติหลัก ๆ ไปแล้ว ก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะสามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้าได้ในทุก ๆ มิติ